วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

5 จุดสังเกตปัญหาผิวลูกวัยเรียน






เด็กๆ ในวัยประถม อาจดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอในเรื่องสุขอนามัย จึงมีโอกาสเกิดปัญหาเรื่องสุขภาพผิว จนเป็นปัญหากวนใจทั้งคุณและลูก มาดูจุดสังเกตในร่างกายแต่ละส่วนของลูกน้อย ที่ควรได้รับการปกป้อง ดูแลค่ะ

1. ศีรษะ
เป็นจุดที่มองผิวเผินอาจไม่พบสิ่งผิดปกติ ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นตรวจศีรษะลูกน้อย เนื่องจากเป็นบริเวณที่อาจเกิดการติดเชื้อราหรือผื่นผิวหนังอักเสบได้  ยิ่งส่วนไหนสร้างน้ำมันมาก เช่น หนังศีรษะ เปลือกตา ขนตา ดั้งจมูก เป็นต้น และเด็กๆ ที่อยู่รวมกัน อาจมีการใช้อุปกรณ์ ของใช้ร่วม เช่น แปรงหวีผม ผ้าขนหนู ฯลฯ
สังเกต
บริเวณหนังศีรษะมีลักษณะของแผ่น เป็นเกล็ดเกิดขึ้นที่หนังศีรษะ หรือเป็นก้อนนูน มีน้ำเหลือง ตุ่มหนอง และมีอาการคันร่วม รายไหนที่มีอาการมากหน่อย ก็อาจทำให้ผมบริเวณนั้นหายหลุดร่วงได้ อาการติดเชื้อราที่ว่านี้ มีอีกชื่อเรียกที่คุ้นกันดีก็คือ โรคชันนะตุ นั่นเอง

2. หน้า – หลัง – คอ
โรคฮิตคนเมืองร้อน เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หนีไม่พ้นโรคเชื้อราประเภทกลากและเกลื้อน การติดต่อเกิดจากผิวสัมผัสกับเชื้อที่ปะปนอยู่ตามพื้นดิน กิ่งไม้  และขนสัตว์ สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เมื่อผิวหนังมีบาดแผลหรือรอยขีดข่วน หรืออาจติดต่อโดยตรงจากการคลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้ออยู่แล้ว
สังเกต
 โรคกลากมีลักษณะเป็นผื่นแดงเป็นวงกลม มีขอบชัดเจน จะขยายขนาดกว้างขึ้น (หากไม่รีบดูแล) และมีอาการคันร่วมด้วย ในเด็กมักจะพบในบริเวณที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยง เช่น ใบหน้า  ส่วนเกลื้อนนั้นจะเป็นจุดด่างๆ สีขาว ชมพู หรือน้ำตาล ก็ได้ มักพบบริเวณหลัง หน้าอก คอ และหน้า  ทั้งโรคกลาก กับเกลื้อนเกิดจากเชื้อราต่างชนิดกันค่ะ

3.  นิ้ว ฝ่ามือ
เป็นอวัยวะที่สัมผัสสิ่งต่างๆ มากมาย ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังโดยตรง ผ่านแผลถลอกรอยขีดข่วนหรือมีแผล ที่พบบ่อยคือหูด มักเป็นหูดนูนขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หากมีการแกะ เกา จะทำให้หูดแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
สังเกต
บริเวณฝ่ามือ นิ้ว และรอบเล็บของลูกน้อย จะมีตุ่มนูนแข็ง หากยังมีขนาดเล็กจะไม่มีอาการ หากปล่อยทิ้งไว้หูดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจจะมีอาการเจ็บได้โดยเฉพาะบริเวณที่มีแรงกด เช่น บริเวณที่โดนกดเวลาลูกเขียนหนังสือ

4. เท้า
เป็นส่วนที่สัมผัสสิ่งรอบตัวเกือบตลอดเวลา อาจมีการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเกิดการแพ้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว จะเกิดอาการผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่ายยิ่งขึ้น
จุดสังเกต
บริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า ด้านข้างฝ่าเท้า จะพบผื่นแดงมีขุย มีอาการคันมาก หากเป็นมากอาจพบตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก เมื่อเกาจะมีน้ำเหลืองแฉะเยิ้มได้ ส่วนใหญ่ผื่นชนิดนี้จะมีอาการคันมาก เด็กๆ มักจะเกาจนเป็นแผลถลอกและเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ จนเกิดเป็นตุ่มหนอง หากเริ่มมีตุ่มหนองคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เนื่องจากอาจติดเชื้อลุกลามได้

5. ข้อพับต่างๆ
อากาศที่อับชื้น ร้อน  บวกกับรูปร่าง ร่องเนื้อของเด็ก เกิดการเสียดสีร่วมกับการติดเชื้อรา บริเวณข้อพับต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ รักแร้ เป็นต้น จึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เกิดการติดเชื้อเกิดเป็นผื่นเชื้อราแคนดิด้าได้ง่าย เป็นปัญหาเรื่องผิวที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองผ่าน
สังเกต
ผิวหนังมีอาการเป็นปื้นแดงหรือเป็นแผลถลอก  เป็นจุดกระจายตามซอกพับ อาจมีจุดหนองขนาดเล็กอยู่บนจุดแดง ที่สำคัญคือมีอาการแสบคัน

Do & Don't สุขภาพผิว

         Do
- ให้ลูกอาบน้ำ สระผม ดูแลสุขอนามัยตัวเองเป็นประจำ
-  ควรให้ลูกรีบอาบน้ำให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้ง หลังทำกิจกรรมเรื่องเล่น หรือกีฬาที่ทำให้มีเหงื่ออก
         - เรื่องของที่นอน ปลอกหมอน หรือตุ๊กตา เรื่องนี้ต้องให้คุณแม่เป็นผู้ช่วย หมั่นทำความสะอาด ซักเป็นประจำค่ะ
- เรื่องความสะอาดเสื้อผ้า ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่คุณควรสอน เช่น ไม่สวมเสื้อผ้าที่อับชื้น สกปรก ควรถอดซักให้สะอาดและตากให้แห้ง
- หากที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงที่ลูกน้อยคลุกคลีด้วยประจำ ควรนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจเช็คว่ามีเชื้อราหรือไม่ เนื่องจากในบางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจมีเชื้อราอยู่ (ไม่ก่ออาการในสัตว์) แต่เมื่อมาติดในคนสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- หากมีผื่นที่สงสัย ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ใช้ยาภายใต้คำแนะนำ การดูแลของคุณหมอ

Don't
-  เลี่ยงการเกาบริเวณที่เป็นปัญหาเรื่องผิว เพราะยิ่งเป็นการเปิดทางให้เชื้อโรค เข้าสู่ผิวหนังเกิดแทรกซ้อน จากแผลที่ลูกเกาได้
-  สอนลูกเรื่องการไม่ควรใช้สิ่งของ อุปกรณ์ ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนู หมอน (คุณแม่ที่ทำเล็บที่ร้านเสริมสวย ก็มีโอกาสติดเชื้อ) เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกอยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าว ไม่สวมเสื้อผ้าที่หนาและคับมากเกินไป

มีเชื้อโรคหลายชนิดที่ทำให้ลูกวัยเรียนเป็นโรคผิวหนัง หากจะให้มั่นใจในปัญหาที่พบหรือการดูแลที่เหมาะสม ควรพาลูกน้อยไปตรวจหาสาเหตุ ให้คุณหมอวินิจฉัย บอกรายละเอียดผิวเป็นดีที่สุดค่ะ


ขอบคุณ : พญ. สาลินี โรจน์หิรัญสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง หน่วยโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี



อัพเดทสินค้าและโปรโมชั่น ATO AI ได้ที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น